พระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับต่าง ๆ ของ พระไตรปิฎกภาษาจีน

พระไตรปิฎกฉบับเขียน

ในยุคโบราณนั้น โลกยังไม่ปรากฏเทคโนโลยีการพิมพ์ แต่ด้วยความที่ชาวจีนเป็นผู้ประดิษฐ์กระดาษขึ้นในศตวรรษที่ 2 ทำให้การเผยแพร่ความรู้ และศาสนาเป็นไปอย่างกว้างขวางไม่น้อย ซึ่งกระดาษนี่เองที่มีส่วนในการส่งเสริมให้พุทธศาสนาเฟื่องฟูในแผ่นดินจีน โดยในชั้นต้นนั้น มีการจารึกพระธรรมวินัยในกระดาษด้วยการเขียนลายมือก่อน โดยได้รับการอุปถัมภ์จากจักรพรรดิพระองค์ต่างๆ เรื่อยมา

ในสมัยแผ่นดินจักรพรรดิเหลียงอู่ (梁武帝) แห่งราชวงศ์เหลียง เมื่อ พ.ศ. 1061 มีพระราชโองการให้ ชำระรวบรวมพระไตรปิฎกเท่าที่แปลแล้ว และพวกปกรณ์วิเศษ ได้จำนวนรวม 1,433 คัมภีร์ จำนวนผูกได้ 3,741 ผูก ต่อมาในสมัยวงศ์เว่ย (ยุคราชวงศ์เหนือใต้) มีชำระพระไตรปิฎกพากย์จีนครั้งหนึ่ง สมัยวงศ์เป่ยฉี (ยุคราชวงศ์เหนือใต้) มีการชำระอีกครั้ง ต่อมาในสมัยราชวงศ์สุยมีการชำระ 3ครั้ง จวบจนถึงสมัยวงศ์ถัง พุทธศาสนารุ่งเรืองยิ่ง มีการชำระพระไตรปิฎกถึง 9 ครั้ง ดังนี้

1. แผ่นดินพระเจ้าถังไท่จง (太宗 ) ศักราชเจิ้งกวน (貞觀) ปีที่ 9 (พ.ศ. 1169) จำนวน 739 คัมภีร์ 2,712 ผูก

2. แผ่นดินพระเจ้าถังเกาจง (高宗 ) ศักราชเสี่ยนชิ่ง (顯慶) ปีที่ 4 (พ.ศ. 1202) จำนวน 800 คัมภีร์ 3,361 ผูก

3. แผ่นดินพระเจ้าถังเกาจง (高宗 ) ศักราชลิ่นเต๋อ (麟德) ปีที่ 1 (พ.ศ. 1207) จำนวน 816 คัมภีร์ 4,066 ผูก

4. แผ่นดินจักรพรรดินีบูเช็กเทียน (武则天) ศักราชว่านซุ่ย (萬歲) ปีที่ 1 (พ.ศ. 1238) จำนวน 860 คัมภีร์ 3,929 ผูก

5. แผ่นดินพระเจ้าถังเสวียนจง (玄宗) ศักราชไคหยวน (開元 ) ปีที่ 18 (พ.ศ. 1273) จำนวน 1,076 คัมภีร์ 5,048 ผูก

6. แผ่นดินพระเจ้าถังเต๋อจง (德宗) ศักราชซิ่งหยวน (興元) ปีที่ 1 (พ.ศ. 1327) จำนวน 1,147 คัมภีร์ 5,049 ผูก

7. แผ่นดินถังพระเจ้าถังเต๋อจง (德宗) ศักราชเจินหยวน (興元) ปีที่ 11 (พ.ศ. 1338) จำนวน 1,243 คัมภีร์ 5,393 ผูก

8. แผ่นดินพระเจ้าถังเต๋อจง (德宗) ศักราชเจินหยวน ปีที่ 15 (พ.ศ. 1,342) จำนวน 1,258 คัมภีร์ 5,390 ผูก

9. สมัยวงศ์ถังภาคใต้ (南唐) ศักราชเป่าต้า ปีที่ 3 (พ.ศ. 1488) จำนวน 1,214 คัมภีร์ 5,421 ผูก[8]

วัชรเฉทิกะปรัชญาปารมิตาสูตร สิ่งพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จากสมัยราชวงศ์ถังคัมภีร์ธารณี หนึ่งในสิ่งพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สมัยราชวงศ์ชิลลา ของเกาหลี ร่วมสมัยราวงศ์ถัง

รวมการชำระรวบรวมพระไตรปิฎกฉบับเขียน 15 ครั้ง

พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์

สิ่งพิมพ์ชิ้นแรกของโลกคือ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ที่ถูกค้นพบที่ถ้ำตุนหวง มณฑลกานซู ประเทศจีน เป็นพระสูตรที่พิมพ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง แต่แม้จะมีเทคโนโลยีการพิมพ์มาตั้งแต่ครั้งนั้น การพิมพ์พระไตรปิฎกจะเริ่มขึ้นในช่วงหลังจากนั้นมาก คือในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งได้พัฒนากระบวนการพิมพ์ให้มีความก้าวหน้าขึ้น กล่าวคือมีการใช้ระบบเรียงพิมพ์ตัวอักษร แทนที่การแกะแม่พิมพ์ไม้ทั้งแผ่น ทั้งนี้ พระไตรปิฎกฉบับตัวพิมพ์ฉบับต่างๆ มีดังต่อไปนี้

1. พระไตรปิฎกฉบับไคเป่า (開寶藏) ในสมัยราชวงศ์ซ่ง พระเจ้าซ่งไท่จู่ (宋太祖) ฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ เมื่อศักราชไคเป่า (開寶) ปีที่ 4 (พ.ศ. 1514) มีพระราชโองการให้ขุนนางผู้ใหญ่ชื่อเตียช่งสิ่ง ไปชำระรวบรวมพิมพ์พระไตรปิฎกที่มณฑลเสฉวน พระไตรปิฎกฉบับนี้มาแล้วเสร็จเมื่อรัชสมัย พระเจ้าซ่งไท่จง (宋太宗) พ.ศ. 1526 กินเวลา 12 ปี เรียกว่า “พระไตรปิฎกฉบับไคเป่า” นับ เป็นปฐมพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน พระไตรปิฎกฉบับไคเป่ามีคัมภีร์ 1,076 คัมภีร์ 5,048 ผูก แต่หายสาบสูญเสียมากกว่ามาก เหลือเพียงข้อความกระท่อนกระแท่นบางคัมภีร์เท่านั้น[9]

2. พระไตรปิฎกฉบับชี่ตาน หรือคี่ตาน (契丹大藏經) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “เคอร์ตานจั๋ง”) พิมพ์โดยพระราชโองการกษัตริย์ราชวงศ์เหลียว ซึ่งเป็นชาวเผ่าเคอร์ตาน หรือ คี่ตาน นับเป็นเผ่าเตอร์กพวกหนึ่ง ปกครองดินแดนของมณฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน รวมถึงดินแดนทั้งหมดของประเทศมองโกเลียในปัจจุบันพระไตรปิฎกพิมพ์ ด้วยอักษรจีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ 15 จำนวน 6,006 ผูก 1,373 คัมภีร์ บัดนี้ต้นฉบับสาบสูญกันหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม มีการสลักบางส่วนของพระไตรปิฎกลงในศิลา ประดิษฐาน ณ อารามอวิ๋นจู (云居寺)ในกรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ บางส่วนยังหลงเหลืออยู่ในพระไตรปิฎกฉบับเกาหลี (Tripitaka Koreana) และนักวิชาการบางส่วน โดยเฉพาะชาวเกาหลี ยกย่องว่า ฉบับราชวงศ์เหลียว หรือคี่ตาน มีความครบถ้วนสมบูรณ์กว่าฉบับราชวงศ์ซ่ง[10]

3. พระไตรปิฎกฉบับราชวงศ์จิน หรือฉบับจ้าวเฉิง ( 赵城金藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “กิมจั๋ง”) พิมพ์ครั้งราชวงศ์จิน เมื่อ พ.ศ. 1691-1716 ในรัชศกต้าติ้ง (大定) ของฮ่องเต้ จินซื่อจง (金世宗) ซึ่งราชวงศ์จิน สถาปนาโดยชนเผ่านฺวี่เจิน บรรพบุรุษของชนเผ่าแมนจู แต่ฉบับนี้ใช้อักษรจีนในการจารึก ยังมีคัมภีร์เหลืออยู่ ณ บัดนี้ 4,950 ผูก จากทั้งหมด 6,980 ผูก ซึ่งพิมพ์ขึ้นจากแม่พิมพ์ไม้แกะสลักจำนวนถึง 168,000 ชิ้น ทำที่วัดเทียนหนิง โดยศรัทธาของอุบาสิกานามว่าชุยฝ่าเจินร่วมกับอุบาสกอุบาสิกาในพื้นที่ ต่อมาต้นฉบับที่หลงเหลืออยู่ถูกค้นพบที่วัดกว่างเซิง (广胜寺) อำเภอจ้าวเฉิง มณฑลซานสี เมื่อปี 1933 ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันในชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่าฉบับจ้าวเฉิง ปัจจุบันเก็บรักษา ณ หอสมุดแห่งชาติกรุงปักกิ่ง และได้รับการพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2551[11]

4. พระไตรปิฎกฉบับฉงหนิงว่านโซ่วต้าจั้ง (崇宁万寿大藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “ช่งหลิงบ้วนซิ่วจั๋ง”) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าซ่งเสินจง (宋神宗) สมณะชงจิง วัดตงฉาน เมืองฝูโจว บอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1623-1647 ฉบับนี้มีความพิเศษตรงที่ เป็นฉบับแรกที่ใช้การเข้าเล่มแบบพับเล่มคล้ายสมุดไทย ต่อมามีการพิมพ์เติมต่อมาอีกหลายหนสำหรับฉบับนี้ รวมจำนวน 6,434 ผูก 1,440 คัมภีร์ ปัจจุบันกระจัดกระจายหมด[12]

5. พระไตรปิฎกฉบับผีหลู หรือฉบับไวโรจนะ (毘盧藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “พี่ลู้จั๋ง”) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าซ่งฮุยจง (宋徽宗) สมณะปุงหงอ วัดไคหยวน (开元寺) เมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน บอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1658-1693 มี 6,132 ผูก 1,451 คัมภีร์ ยังมีฉบับเหลืออยู่ที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ ด้วยความที่ฉบับฉงหนิง และฉบับพีหลู พิมพ์ขึ้นที่เมืองฟู่โจว ในเวลาไล่เลี่ยกัน และมีความคล้ายคลึงกัน จึงมักเรียกรวมกันว่าฉบับฝูโจว[13]

6. พระไตรปิฎกฉบับซือชีหยวนเจวี๋ย (思溪圆觉藏) หรือฉบับเฉียนซือชี - ซีชียุคก่อน (前思溪藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “ซือเคยอิ้กั๋กจั๋ง”) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าซ่งกาวจง (宋高宗) โดยพุทธบริษัทชาวหูโจว มณฑลเจ้อเจียง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 1675 มีจำนวน 1,451 คัมภีร์ 5,480 ผูก ยังมีฉบับสมบูรณ์อยู่ที่ญี่ปุ่น[14]

7. พระไตรปิฎกฉบับจือฝู (資福) หรือฉบับโห้วซือชี - ซีชียุคหลัง (后思溪藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “ซือเคยจือฮกจั๋ง”) พิมพ์ที่เมืองหูโจว ในปีพ.ศ. 1718 จำนวนทั้งหมด 5940 ผูกรวม 145 คัมภีร์ ปัจจุบันคงเหลือบางส่วนเท่านั้น[15]

8. พระไตรปิฎกฉบับฉีซา (碛砂藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “จีซาจั๋ง”) พิมพ์ราว พ.ศ. 1774 มี 1,535 คัมภีร์ 6,362 ผูก พิมพ์ที่เมืองซูโจว สร้างขึ้นในสมัยราวงศ์ซ่งแต่แล้วเสร็จในสมัยราชวงศ์หยวน โดยความช่วยเหลือของพระภิกษุนิกายวัชรยาน จากอาณาจักรซีเซี่ย เป็นฉบับที่มีความพิเศษตรงที่มีการแทรกภาพประกอบไว้ด้วย ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 30 มีการค้นพบฉบับนี้ที่วัดไคหยวน (开元寺) ในฝูโจว และวัดหว่อหลง (卧龙寺) ในนครซีอาน เป็นจุดเริ่มต้นทำให้นักวิชาการตื่นเต้น และหันมาสนใจค้าหาพระไตรปิฎกฉบับจีนโบราณกันมากขึ้นนับแต่นั้น[16]

9. พระไตรปิฎกฉบับผูหนิง (普宁藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “โพหลิงจั๋ง”) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1821 สมณะต้าวอัน วัดผูหนิง มณฑลเจ้อเจียง สมัยวงศ์หยวนบอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้น เป็นผลงานของผู้ศรัทธาในนิกายเมฆขาว (白云宗) ซึ่งเป็นพุทธศาสนาในระดับชาวบ้านแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง ฉบับนี้มี 1,594 คัมภีร์ 6,327 ผูก ยังเหลือบริบูรณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาการสร้างฉบับต่อขยายในพ.ศ. 1849 มีการเพิ่มเติมคัมภีร์ของนิกายวัชรยานเข้ามาก[17]

10. พระไตรปิฎกฉบับหงฝ่า (弘法藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “ห่งหวบจั๋ง”) เป็นพระไตรปิฎกภาษาจีนอย่างเป็นทางการฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวน ครั้งแผ่นดินพระเจ้าหยวนซื่อจู่ฮ่องเต้ (元世祖) หรือ กุบไลข่าน ศักราชจื้อหยวน (至元) ปีที่ 14 (พ.ศ. 1820) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้น ถึง พ.ศ. 1837 จึงแล้วเสร็จ มี 1,654 คัมภีร์ 7,182 ผูก ฉบับนี้เคยคิดกันว่าหายสาบสูญไปจนแล้ว จนกระทั่งมีการค้นพบในกรุงปักกิ่ง เมื่อปลายศตวรรษที่ 20[18]

11. พระไตรปิฎกฉบับหยวนกวน (元官藏 ) หรือฉบับทางการราชวงศ์หยวน พิมพ์ที่มณฑลอวิ๋นหนาน ระหว่างพ.ศ. 1873 – 1879 จำนวน 6,500 ผูก พบที่กรุงปักกิ่ง ปลายศตวรรษที่ 20[19]

12. พระไตรปิฎกฉบับหงอู่หนานฉัง (洪武南藏) หรือฉบับทักษิณยุคแรก (初刻南藏) เป็นฉบับแรกที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าหมิงไท่จู่ (明太祖) ทรงมีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้นที่ระหว่างพ.ศ. 1915 – 1942 ที่นครหนานจิง มีจำนวน 7,000 ผูก 1,600 คัมภีร์ ต่อมาฉบับจำลองถูกค้นพบที่มณฑลเสฉวน ในพ.ศ. 2477[20]

13. พระไตรปิฎกฉบับหย่งเล่อหนานฉัง (永乐南藏) หรือ หนานจั้ง (南藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “น่ำจั๋ง”) สร้างขึ้นครั้งแผ่นดินพระเจ้าหมิงเฉิงจู่ฮ่องเต้ (明成祖) ระหว่างพ.ศ. 1955 – 1960 มีจำนวน 6,942 ผูก 1,610 คัมภีร์[21]

14. พระไตรปิฎกฉบับหย่งเล่อเป่ยจั้ง (永乐北藏) หรือเป่ยจั้ง (北藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “ปักจั๋ง”) แผ่นดินพระเจ้าหมิงเฉิงจู่ฮ่องเต้ (明成祖) ศักราชหย่งเล่อ ปีที่ 8 (พ.ศ. 1953) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้นที่นครปักกิ่ง มาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 1984 มี 6,924 ผูก 1662 คัมภีร์ ยังอยู่บริบูรณ์ดี[22]

15. พระไตรปิฎกฉบับอู่หลิน (武林藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “บูลิ้มจั๋ง”) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2065-2109 ฉบับนี้มิได้ร่องรอยที่ละเอียด ทราบแต่เพียงว่าพิมพ์ที่เมืองหังโจว และค้นพบบางส่วนในปีพ.ศ. 2525[23]

16. พระไตรปิฎกฉบับว่านหลี่ (万历藏) สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าหมิงเสิ่นจง (明神宗) พิมพ์ที่นครหนานจิง ระหว่างพ.ศ. 2132 – 2200 จำนวน 6,234 ผูก 1,659 คัมภีร์ ถูกค้นพบที่มณฑลซานซีในปีพ.ศ. 2526[24]

17. พระไตรปิฎกฉบับเจียซิง (嘉兴藏) หรือฉบับจิ้งซาน (径山藏) สร้างขึ้นระหว่างพ.ศ. 2132 2219 คาบเกี่ยวระหว่างราชวงศ์หมิงกับราชวงศ์ชิง มีจำนวน 12,600 ผูก 2,090 คัมภีร์ เป็นฉบับแรกที่มีการเข้าเล่มแบบเย็บเล่ม และมีการแบ่งบรรพคัมภีร์เบ็ดเตล็ดเป็นครั้งแรกอีกด้วย[25]

18. พระไตรปิฎกฉบับชิงจั้ง (清藏) หรือฉบับชิงหลง – ฉบับหลวงราชวงศ์ชิง (清龙藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับเล่งจั๋ง) แผ่นดินพระเจ้าชิงซื่อจง (清世宗) หรือรัชสมัยยงเจิ้ง (雍正) ปีที่ 13 (พ.ศ. 2178) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ที่กรุงปักกิ่ง มาแล้วบริบูรณ์ในแผ่นดินพระเจ้าเฉียนหลง ปีที่ 3 (พ.ศ. 2281) จึงเรียกกันในอีกชื่อว่า เฉียนหลงป่านต้าฉังจิง (乾隆版大藏经) มีจำนวน 7,168 ผูก 1,669 คัมภีร์ สร้างจากแม่พิมพ์ไม้จำนวนทั้งสิ้น 79,036 ชิ้น ปัจจุบันอยู่ที่กรุงปักกิ่ง นับเป็นพระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับสุดท้ายที่ได้รับการอุปถัมภ์การจัดสร้างโดยราชสำนัก[26]

สุวรณประภาโสตตมะราชสูตร ฉบับตัวเขียนภาษาทังกุตตัวอย่างพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์สมัยราชวงศ์ซ่ง

การพิมพ์พระไตรปิฎกยุคปัจจุบัน

ในช่วงปลายราชวงศ์ชิงจนถึงยุคสาธารณรัฐจีน ยังคงมีการจัดสร้างพระไตรปิฎกอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักอีกต่อไปก็ตาม นอกจากนี้การจัดสร้างยังประสบอุปสรรคมากมาย เนื่องจากจีนตกอยู่ในความมุ่นวายของสงครามและปัญหาการเมืองยืดเยื้อนานเกือบครึ่งศตวรรษ ในช่วงปลายราชวงศ์ชิง จนถึงยุคสาธารณรัฐ มีการจัดสร้างครั้งสำคัญๆ อาทิ พระไตรปิฎกฉบับไป่หนา (百衲藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “แปะนั่มจั๋ง”) สร้างขึ้นครั้งแผ่นดินพระเจ้าถงจื่อ (同治) ปีที่ 5 (พ.ศ. 2409) โดยนายยินซัน อุบาสกคนสำคัญในสมัยนั้นบอกบุญเรี่ยไรชำระพิมพ์ขึ้นที่หนานจิง ฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์

ต่อมามีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับผินเจีย (频伽藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “พิงแคจั๋ง”) ในปีที่ 1 แห่งแผ่นดินพระเจ้าเสวียนถง (宣統) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง หรือพ.ศ. 2452 โดยพุทธบริษัทชาวเมืองเซี่ยงไฮ้จัดพิมพ์ขึ้นมาแล้วเสร็จเมื่อศักราชสาธารณรัฐ หรือปีหมินกั๋วที่ 2 (พ.ศ. 2457) มีจำนวน 1,916 คัมภีร์ 8,416 ผูก ต่อมายังมีพระไตรปิฎกฉบับซกจั๋ง สร้างขึ้นในศักราชหมินกั๋วปีที่ 11 หรือพ.ศ. 2465 โดยสำนักพิมพ์ชางวู เมืองเซี่ยงไฮ้ จัดพิมพ์ มีจำนวน 1,757 คัมภีร์ 7,148 ผูก

ต่อมาในปีพ.ศ. 2486 มีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับผู่ฮุ่ย (普慧藏) ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ แต่ผู้รวบรวมไม่อาจสร้างจนสำเร็จได้ หลังจากนั้น การสร้างพระไตรปิฏกในจีนขาดช่วงไป

ระหว่างที่จีนกำลังเผชิญกับความวุ่นวายอยู่นั้น ในญี่ปุ่นได้มีการรวบรวมพระธรรมวินัยครั้งใหญ่รวมเอาทั้งคัมภีร์ของฉบับจีน ของเกาหลี และปกรณ์ต่างๆ ที่รจนาขึ้นโดยชาวพุทธในญี่ปุ่น เรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ว่า “ไทโช ชินชู ไดโซเคียว” (大正新脩大藏經) หรือ “ไทโช” เพราะสร้างขึ้นในรัชสมัยของจักพรรดิไทโช ในโครงการที่มีขึ้นระหว่างปีพ.ศ. 2467 - 2477 โดยนักวิชาการชาวญี่ปุ่นชื่อ ทะคะคุสุ จุนจิโร เป็นบรรณาธิการ ปัจจุบันได้มีการเผยแพร่ทั้งฉบับผ่านระบบดิจิทัล บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต[27]

ต่อมายังมีพระไตรปิฎกฉบับโซคุเคียว (卍續藏) เป็นฉบับเอกเทศ แต่มักยกให้เป็นฉบับผนวกต่อจากฉบับไทโช ต่อมาในปีค.ศ. 1986 ที่ไต้หวัน ยังมีการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับต้าฉังจิงปู่เปียน (大藏經補編) หรือฉบับต่อยอด เป็นส่วนขยายสำหรับฉบับอื่นๆ ในอดีตเช่นกัน[28]

นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่พระไตรปิฎกฉบับแปดหมื่นพระคัมภีร์ (八萬大藏經) หรือฉบับเกาหลี (高麗大藏經) หรือที่เรียกกันว่า Tripitaka Koreana ที่สืบทอดมาจากฉบับไคเป่า และฉบับคี่ตาน สมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์เหลียว ตัวประไตรปิฎกฉบับนี้ เป็นแม่พิมพ์ไม้แกะสลักสร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 13 จำนวน 81,258 แผ่น เก็บรักษาไว้ที่วัดแฮอินซา (해인사 หรือ 海印寺) มีจำนวน 6,568 ผูก 1,496 คัมภีร์ ปัจจุบันมีการจัดพิมพ์ทั้งแบบหนังสือและแบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง[29]

ทั้งนี้ การพิมพ์พระไตรปิฎกในจีนแผ่นดินใหญ่เฟื่องฟูอีกครั้ง ภายหลังรัฐบาลผ่อนปรนและให้เสรีภาพทางศาสนามากขึ้น เริ่มต้นระหว่างทศวรรษที่ 80 - 90 เป็นต้นมา ได้มีการตีพิมพ์พระไตรปิฏกจีนที่มีการรวบรวมคัมภีร์ตกหล่น และคัมภีร์ที่ค้นพบใหม่มากขึ้น รวมถึงการถ่ายเอกสารจากฉบับโบราณ และรวมเอาคัมถีร์ที่พบใหม่ที่ถ้ำตุนหวง เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ หนึ่งในนั้นคือพระไตรปิฏกฉบับเอกสารโบราณจีน (中華大藏經–漢文部份) หรือ The Chinese Manuscripts in the Tripitaka Sinica พิมพ์โดยสำนักพิมพ์จงหัว ในกรุงปักกิ่ง ระหว่างปี 2526 - 2540 มีขนาดทั้งสิ้น 107 เล่ม นับเป็นฉบับที่ครบถ้วนบริบูรณ์ที่สุดฉบับหนึ่ง แต่ในอนาคตยังจะมีการปรับปรุงฉบับโครงการ Tripitaka Sinica ต่อไปอีก เพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น[30]

ตัวอย่างพระไตรปิฎกฉบับเกาหลี

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

รายชื่อพระสูตรในพระไตรปิฎกภาษาจีน (ฉบับเกาหลี)

ข้อมูลเพิ่มเติม

มหาสางฆิกะ ปราติโมกษ์

อวตังสกสูตร (คำอ่านภาษาจีน)

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (ฉบับย่อ)

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (ภาษาญี่ปุ่น)

ใกล้เคียง

พระไตรปิฎกภาษาจีน พระไตรปิฎกภาษาบาลี พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกภาษาทิเบต พระไตรปิฎกฉบับซีเซี่ย พระไตรโลกยวิชัย พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย พระไกรสรราช (สิงห์ ไตรยวงค์) พระตำหนักในพระราชวังดุสิต พระไพศาล วิสาโล

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระไตรปิฎกภาษาจีน http://hi.baidu.com/zgfjbd/archive/tag/%E6%88%BF%E... http://fo.ifeng.com/zhuanti/shijiefojiaoluntan2/li... http://www.jinmajia.com/lyzt/201109/dzj/index_en.s... http://www.chinaknowledge.de/History/Song/song-rel... http://mbingenheimer.net/publications/agamaLit.pdf http://www.suttaworld.org/Collection_of_Buddhist/C... http://whc.unesco.org/archive/advisory_body_evalua... http://www.wdl.org/en/item/3018/ http://mahamakuta.inet.co.th/tipitaka/tipitaka3/ti... http://taiwanpedia.culture.tw/en/content?ID=1765